พิธีมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ประจำปี 2557

องคมนตรีให้เกียรติมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ประจำปี ๒๕๕๗ สร้างขวัญ กำลังใจ และเชิดชูผลงาน แก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่สร้างคุณประโยชน์ และเป็นผู้กระทำความดี สร้างชื่อเสียง ให้แก่องค์การ รวม ๑๑ รางวัล

 เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานและมอบรางวัลในพิธีมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน   สินธวานนท์” ประจำปี ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านวิชาการและปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของ กฟผ. โดย คณะกรรมการ  มูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการประกวดผลงานทางวิชาการ และคัดเลือกผู้กระทำความดีเป็นประจำทุกปี สำหรับในปี ๒๕๕๗ ได้พิจารณารางวัลรวม ๑๑ รางวัล ได้แก่ รางวัลผลงานทางวิชาการ ๖ รางวัล และรางวัลผู้กระทำความดี ๕ รางวัล โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงาน ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช ชั้น ๙ อาคาร  ต.๐๔๐ สำนักงานใหญ่ กฟผ.

  พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผลงานทางวิชาการ และรางวัลผู้กระทำความดีของมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ในครั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิได้พิจารณาตัดสินมอบรางวัลผลงานทางวิชาการแก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่มีความรู้ ความสามารถในการคิดค้น และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อ กฟผ. และมอบรางวัลผู้กระทำความดีแก่ผู้ที่กระทำคุณงามความดีแก่ กฟผ. สังคม และประเทศชาติ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีผลงานที่เป็นประโยชน์ เป็นผู้ทำความดีและสร้างชื่อเสียงให้แก่ กฟผ. และเพื่อเป็นการเชิดชูผลงาน และการกระทำนั้นๆ ให้ปรากฏเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และแก่บุคคลทั่วไป ขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้ผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน จงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า และมุ่งมั่นกระทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ กฟผ. สังคม และประเทศชาติโดยรวมสืบไป

   นายศุภชัย ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (อทบ.) ในฐานะผู้แทนกรรมการและเลขานุการมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” กล่าวว่า มูลนิธิ “กำธน   สินธวานนท์” จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. หรือ ผู้ที่ทำประโยชน์ด้านวิชาการ หรือปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของ กฟผ. เพื่อบำรุงขวัญผู้ปฏิบัติงานที่ได้ประกอบคุณงามความดี สร้างชื่อเสียงให้แก่ กฟผ. และเพื่อส่งเสริมผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างบุคคล หรือหน่วยงานภายนอกกับ กฟผ. รวมทั้งดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ คณะกรรมการมูลนิธิ จึงได้จัดให้มีการประกวดผลงานวิชาการ และคัดเลือกผู้กระทำความดีเป็นประจำทุกปี สำหรับปี ๒๕๕๗ คณะกรรมการคัดเลือกผลงานวิชาการ ซึ่งมีรองผู้ว่าการกิจการสังคม เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการคัดเลือก ผู้กระทำความดี ซึ่งมีอดีตผู้ว่าการสมบัติ ศานติจารี เป็นประธานกรรมการ ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่สมควรได้รับรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” รวม ๑๑ รางวัล ได้แก่ รางวัลผลงานทางวิชาการ ๖ รางวัล และรางวัลผู้กระทำความดี ๕ รางวัล

สำหรับพิธีการมอบรางวัล

คณะกรรมการมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ได้มีมติอนุมัติรางวัลประจำปี ๒๕๕๗ ดังนี้

รางวัลผลงานทางวิชาการ จำนวน ๖ รางวัล ได้แก่

รางวัลที่ ๑ จำนวน ๑ รางวัล เงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย เจ้าของผลงาน นายวัชท์พล ทานะกุล ช่างระดับ ๗ แผนกบำรุงรักษาสายส่ง ๔ กองบำรุงรักษาสายส่งฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง และคณะ ชื่อผลงาน “เครื่องมือเปลี่ยนลูกถ้วย V – String ๖๐ องศา สายส่ง ๒๓๐ เควี สายคู่”

รางวัลที่ ๒ จำนวน ๑ รางวัล เงินรางวัล ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์ เจ้าของผลงาน นางกัลล์ชลา มหิทธิหาญ นักวิทยาศาสตร์ ระดับ ๙ กองเคมีวิเคราะห์ ฝ่ายเคมี ชื่อผลงาน “การควบคุมและการปรับปรุงข้อกำหนดค่าแคลเซียมซัลไฟต์ หน่วยที่ ๘ – ๑๑ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ”

รางวัลที่ ๓ จำนวน ๑ รางวัล เงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์ เจ้าของผลงาน นายอรรถวุฒิ กุลดี ช่างระดับ ๗ แผนกปฏิบัติการระบบ ๔ กองควบคุมระบบ ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ และคณะ ชื่อผลงาน “Lockout Logic Diagram”

รางวัลชมเชย จำนวน ๓ รางวัล รางวัลละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ แบ่งเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จำนวน ๒ รางวัล และสาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์ จำนวน ๑ รางวัล ดังนี้

สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย

๑) เจ้าของผลงาน นายประเสริฐ โพธิ์เดช ช่างระดับ ๗ แผนกการขายและบริหารสัญญาธุรกิจวัตถุพลอยได้ กองการขายและบริหารสัญญาธุรกิจวัตถุพลอยได้ ฝ่ายจัดการธุรกิจ และคณะ ชื่อผลงาน “เครื่องมือทดสอบ Vibration Probe” 

๒) เจ้าของผลงาน แผนกระบบควบคุมหม้อน้ำและกังหัน ชื่อผลงาน “เครื่องบันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลาการเกิดเหตุของ กฟผ.”

สาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์

๓) เจ้าของผลงาน นางรื่นฤดี ประชาศรี นักวิทยาศาสตร์ระดับ ๙ กองเคมีภัณฑ์ ฝ่ายเคมี และคณะ ชื่อผลงาน “การปรับเปลี่ยนวิธีเก็บตัวอย่างน้ำระบบหม้อไอน้ำโรงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดปริมาณ Corrosion Products เป็นแบบ Integrated Sampling ให้เหมาะกับสถานการณ์เดินเครื่องปัจจุบัน”

รางวัลผู้กระทำความดี จำนวน ๕ รางวัล ได้แก่

๑) รางวัลดีเลิศ จำนวน ๓ รางวัล เป็นโล่รางวัลมีสัญลักษณ์ม้าน้ำทองคำ ได้แก่ สาขาทำคุณประโยชน์ต่อ กฟผ.

๑.๑) นายสุรชาติ ลี้รากรีผล ผลงาน เป็นผู้ที่มีความทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้าประดิษฐ์ผลงาน นวัตกรรม อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี ได้รับเกียรติให้บันทึกชื่อและผลงานบนหอเกียรติยศ (HALL OF FAME) คนแรกของสายงาน รวฟ. และได้รับรางวัลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรางวัล

๑.๒) นายศิริพงษ์ พลคะชินทรานนท์ ผลงาน เป็นผู้ที่ทุ่มเทมุ่งมั่น นำพาทีมงานสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา ๑๗ ปี จนได้รับรางวัลระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับต่างประเทศ

สาขาผลงานที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นได้

๑.๓) นายพิสิษฐ์ ชะเอมกูล ผลงาน เป็นผู้ที่ช่วยเหลืองานทั้งภายในและภายนอก กฟผ. อย่างเต็มความสามารถ ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี เช่น ถวายงานด้านอาหารและสถานที่ ในการรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ในวโรกาสเสด็จประทับแรม ณ เรือนรับรองเขื่อนต่างๆ เข้าร่วมจัดดอกไม้ในงานพระราชพิธีต่างๆ งานวันสายใยสัมพันธ์ วันส่งพี่กลับบ้าน วันครอบครัว กฟผ. วันสถาปนา กฟผ. เป็นต้น

๒) รางวัลดีมาก จำนวน ๒ รางวัล เป็นโล่รางวัลมีสัญลักษณ์ม้าน้ำทองคำ ได้แก่

สาขาทำคุณประโยชน์ต่อสังคม

๒.๑) นายสุรพล โกมลเสน ผลงาน เป็นผู้ที่เสียสละเวลาในวันหยุด และใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และทำคุณประโยชน์แก่ กฟผ. เป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี โดยเป็นผู้ก่อตั้งโครงการตัดผมชาย “ตามรอยพ่อขอแทนคุณแผ่นดิน” ให้บริการตัดผมชายในนาม กฟผ. แก่บุคคลทั่วไปในชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเกิดความเข้าใจและให้การยอมรับ จนลดแรงต่อต้านจากการประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือหน่วยที่ ๑

สาขาผลงานที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นได้

๒.๒) นายฐิติวงษ์ คงพิกุล ผลงาน เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ และตั้งใจ โดยนำความรู้เพิ่มเติมจากการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ด้านบริหารธุรกิจและการจัดการทั่วไป มาสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี