องคมนตรีให้เกียรติมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ประจำปี ๒๕๕๗ สร้างขวัญ กำลังใจ และเชิดชูผลงาน แก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่สร้างคุณประโยชน์ และเป็นผู้กระทำความดี สร้างชื่อเสียง ให้แก่องค์การ รวม ๑๑ รางวัล |
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานและมอบรางวัลในพิธีมอบรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ประจำปี ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านวิชาการและปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของ กฟผ. โดย คณะกรรมการ มูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการประกวดผลงานทางวิชาการ และคัดเลือกผู้กระทำความดีเป็นประจำทุกปี สำหรับในปี ๒๕๕๗ ได้พิจารณารางวัลรวม ๑๑ รางวัล ได้แก่ รางวัลผลงานทางวิชาการ ๖ รางวัล และรางวัลผู้กระทำความดี ๕ รางวัล โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงาน ณ หอประชุมเกษม จาติกวณิช ชั้น ๙ อาคาร ต.๐๔๐ สำนักงานใหญ่ กฟผ.
พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผลงานทางวิชาการ และรางวัลผู้กระทำความดีของมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ในครั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิได้พิจารณาตัดสินมอบรางวัลผลงานทางวิชาการแก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่มีความรู้ ความสามารถในการคิดค้น และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อ กฟผ. และมอบรางวัลผู้กระทำความดีแก่ผู้ที่กระทำคุณงามความดีแก่ กฟผ. สังคม และประเทศชาติ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีผลงานที่เป็นประโยชน์ เป็นผู้ทำความดีและสร้างชื่อเสียงให้แก่ กฟผ. และเพื่อเป็นการเชิดชูผลงาน และการกระทำนั้นๆ ให้ปรากฏเป็นตัวอย่างอันดีงามแก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. และแก่บุคคลทั่วไป ขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้ผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน จงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า และมุ่งมั่นกระทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ กฟผ. สังคม และประเทศชาติโดยรวมสืบไป
นายศุภชัย ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (อทบ.) ในฐานะผู้แทนกรรมการและเลขานุการมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” กล่าวว่า มูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. หรือ ผู้ที่ทำประโยชน์ด้านวิชาการ หรือปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของ กฟผ. เพื่อบำรุงขวัญผู้ปฏิบัติงานที่ได้ประกอบคุณงามความดี สร้างชื่อเสียงให้แก่ กฟผ. และเพื่อส่งเสริมผู้ที่สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างบุคคล หรือหน่วยงานภายนอกกับ กฟผ. รวมทั้งดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ คณะกรรมการมูลนิธิ จึงได้จัดให้มีการประกวดผลงานวิชาการ และคัดเลือกผู้กระทำความดีเป็นประจำทุกปี สำหรับปี ๒๕๕๗ คณะกรรมการคัดเลือกผลงานวิชาการ ซึ่งมีรองผู้ว่าการกิจการสังคม เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการคัดเลือก ผู้กระทำความดี ซึ่งมีอดีตผู้ว่าการสมบัติ ศานติจารี เป็นประธานกรรมการ ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่สมควรได้รับรางวัลมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” รวม ๑๑ รางวัล ได้แก่ รางวัลผลงานทางวิชาการ ๖ รางวัล และรางวัลผู้กระทำความดี ๕ รางวัล
สำหรับพิธีการมอบรางวัล คณะกรรมการมูลนิธิ “กำธน สินธวานนท์” ได้มีมติอนุมัติรางวัลประจำปี ๒๕๕๗ ดังนี้
รางวัลผลงานทางวิชาการ จำนวน ๖ รางวัล ได้แก่
รางวัลที่ ๑ จำนวน ๑ รางวัล เงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย เจ้าของผลงาน นายวัชท์พล ทานะกุล ช่างระดับ ๗ แผนกบำรุงรักษาสายส่ง ๔ กองบำรุงรักษาสายส่งฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง และคณะ ชื่อผลงาน “เครื่องมือเปลี่ยนลูกถ้วย V – String ๖๐ องศา สายส่ง ๒๓๐ เควี สายคู่”
รางวัลที่ ๒ จำนวน ๑ รางวัล เงินรางวัล ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์ เจ้าของผลงาน นางกัลล์ชลา มหิทธิหาญ นักวิทยาศาสตร์ ระดับ ๙ กองเคมีวิเคราะห์ ฝ่ายเคมี ชื่อผลงาน “การควบคุมและการปรับปรุงข้อกำหนดค่าแคลเซียมซัลไฟต์ หน่วยที่ ๘ - ๑๑ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ”
รางวัลที่ ๓ จำนวน ๑ รางวัล เงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์ เจ้าของผลงาน นายอรรถวุฒิ กุลดี ช่างระดับ ๗ แผนกปฏิบัติการระบบ ๔ กองควบคุมระบบ ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ และคณะ ชื่อผลงาน “Lockout Logic Diagram”
รางวัลชมเชย จำนวน ๓ รางวัล รางวัลละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ แบ่งเป็นสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จำนวน ๒ รางวัล และสาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์ จำนวน ๑ รางวัล ดังนี้
สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ๑) เจ้าของผลงาน นายประเสริฐ โพธิ์เดช ช่างระดับ ๗ แผนกการขายและบริหารสัญญาธุรกิจวัตถุพลอยได้ กองการขายและบริหารสัญญาธุรกิจวัตถุพลอยได้ ฝ่ายจัดการธุรกิจ และคณะ ชื่อผลงาน “เครื่องมือทดสอบ Vibration Probe”
๒) เจ้าของผลงาน แผนกระบบควบคุมหม้อน้ำและกังหัน ชื่อผลงาน “เครื่องบันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลาการเกิดเหตุของ กฟผ.”
สาขาวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ประยุกต์
๓) เจ้าของผลงาน นางรื่นฤดี ประชาศรี นักวิทยาศาสตร์ระดับ ๙ กองเคมีภัณฑ์ ฝ่ายเคมี และคณะ ชื่อผลงาน “การปรับเปลี่ยนวิธีเก็บตัวอย่างน้ำระบบหม้อไอน้ำโรงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดปริมาณ Corrosion Products เป็นแบบ Integrated Sampling ให้เหมาะกับสถานการณ์เดินเครื่องปัจจุบัน”
รางวัลผู้กระทำความดี จำนวน ๕ รางวัล ได้แก่
๑) รางวัลดีเลิศ จำนวน ๓ รางวัล เป็นโล่รางวัลมีสัญลักษณ์ม้าน้ำทองคำ ได้แก่ สาขาทำคุณประโยชน์ต่อ กฟผ.
๑.๑) นายสุรชาติ ลี้รากรีผล ผลงาน เป็นผู้ที่มีความทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้าประดิษฐ์ผลงาน นวัตกรรม อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี ได้รับเกียรติให้บันทึกชื่อและผลงานบนหอเกียรติยศ (HALL OF FAME) คนแรกของสายงาน รวฟ. และได้รับรางวัลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรางวัล
๑.๒) นายศิริพงษ์ พลคะชินทรานนท์ ผลงาน เป็นผู้ที่ทุ่มเทมุ่งมั่น นำพาทีมงานสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา ๑๗ ปี จนได้รับรางวัลระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับต่างประเทศ
สาขาผลงานที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นได้
๑.๓) นายพิสิษฐ์ ชะเอมกูล ผลงาน เป็นผู้ที่ช่วยเหลืองานทั้งภายในและภายนอก กฟผ. อย่างเต็มความสามารถ ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี เช่น ถวายงานด้านอาหารและสถานที่ ในการรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ในวโรกาสเสด็จประทับแรม ณ เรือนรับรองเขื่อนต่างๆ เข้าร่วมจัดดอกไม้ในงานพระราชพิธีต่างๆ งานวันสายใยสัมพันธ์ วันส่งพี่กลับบ้าน วันครอบครัว กฟผ. วันสถาปนา กฟผ. เป็นต้น
๒) รางวัลดีมาก จำนวน ๒ รางวัล เป็นโล่รางวัลมีสัญลักษณ์ม้าน้ำทองคำ ได้แก่
สาขาทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
๒.๑) นายสุรพล โกมลเสน ผลงาน เป็นผู้ที่เสียสละเวลาในวันหยุด และใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และทำคุณประโยชน์แก่ กฟผ. เป็นระยะเวลานานมากกว่า ๑๐ ปี โดยเป็นผู้ก่อตั้งโครงการตัดผมชาย “ตามรอยพ่อขอแทนคุณแผ่นดิน” ให้บริการตัดผมชายในนาม กฟผ. แก่บุคคลทั่วไปในชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือเกิดความเข้าใจและให้การยอมรับ จนลดแรงต่อต้านจากการประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือหน่วยที่ ๑
สาขาผลงานที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นได้
๒.๒) นายฐิติวงษ์ คงพิกุล ผลงาน เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ และตั้งใจ โดยนำความรู้เพิ่มเติมจากการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ด้านบริหารธุรกิจและการจัดการทั่วไป มาสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี |